โรคนิ่ว เกิดจากการตกตะกอนของแร่ธาตุต่าง ๆ ที่รวมตัวกันเป็นก้อน มีชนิดและขนาดที่ต่างกันไป โดยมักจะเกิดขึ้นบริเวณไต และอาจพบได้ทั้งระบบทางเดินปัสสาวะ เช่น นิ่วในถุงน้ำดี นิ่วทอนซิล และนิ่วอาจสร้างความเจ็บปวดทรมานให้ผู้ป่วยได้หากก้อนนิ่วมีขนาดใหญ่จนทำให้อุดตันและทำให้เกิดการอักเสบตามอวัยวะต่าง ๆ ซึ่งจะมีอาการแสดงแตกต่างกันไปตามบริเวณที่เกิดนิ่ว
โรคนิ่วในระบบทางเดินปัสสาวะชื่อเรียกรวมๆของนิ่วทางเดินปัสสาวะเป็นชื่อรวมของนิ่วซึ่งจะแบ่งตามตำแหน่งที่อยู่ต่างๆของนิ่ว คือ นิ่วในไต นิ่วในท่อไต นิ่วในกระเพาะปัสสาวะ และนิ่วในท่อปัสสาวะ โรคนิ่วนั้นมักเริ่มต้นเกิดในไต และต่อมาเลื่อนตำแหน่งไปยังกรวยไต ท่อไต กระเพาะปัสสาวะ และท่อปัสสาวะ ซึ่งถ้านิ่วมีขนาดเล็กก็จะหลุดออกมาเองได้ตอนผู้ป่วยปัสสาวะ แต่ถ้านิ่วมีขนาดใหญ่ก็จะไปอุดตันตามตำแหน่งต่างๆ โรคนิ่วทางเดินปัสสาวะพบได้บ่อยประมาณร้อยละ 10 ถึง 20 ของประชากรเขตภาคตะวันออกเฉียงเหนือของไทย โรคนิ่วไตในคนไทยพบว่ามีอุบัติการณ์การเป็นนิ่วซ้ำสูงมาก ทำให้ทั้งผู้ป่วย และภาครัฐต้องสูญเสียค่าใช้จ่ายในการรักษา และป้องกันการเกิดนิ่วซ้ำสูงมาก ดังนั้นโรคนิ่วไตจึงจัดเป็นปัญหาสุขภาพที่ส่งผลกระทบต่อคุณภาพชีวิตของประชากรไทยเป็นอย่างยิ่ง
โรคนิ่วมีอยู่ด้วยกัน 2 ชนิด คือนิ่วในถุงน้ำดี และ นิ่วในระบบทางเดินปัสสาวะ (นิ่วในไต นิ่วในท่อไต นิ่วในกระเพาะปัสสาวะ และนิ่วในท่อปัสสาวะ) ซึ่งนิ่วทั้งสองประเภทนี้มีความแตกต่างกันตาม สาเหตุ รวมทั้งการดูแลรักษา แต่ที่เรียกว่านิ่วเหมือนกัน อันนี้คงเป็นเพราะว่า ลักษณะที่เห็นนั้น เป็นก้อนคล้ายหินเหมือนกัน เวลาพูดถึงโรคนิ่ว จึงต้องรู้ว่าเป็นนิ่วที่ไหน ปัจจุบันโรคนิ่วเป็นปัญหาสาธารณสุขที่พบมากทั่วโลก และอุบัติการณ์โรคนิ่วไตมีแนวโน้มสูงขึ้น ในประเทศไทยมีอุบัติการณ์โรคนิ่วไตสูงมาก การมีนิ่วในระบบทางเดินปัสสาวะจะส่งผลให้เกิดภาวะแทรกซ้อนอื่น เช่น การติดเชื้อในระบบทางเดินปัสสาวะ การทำงานของไตเสื่อมลง และอาจร้ายแรงจนถึงเกิดภาวะไตวายเรื้อรังและโรคไตระยะสุดท้าย ซึ่งทำให้เสียชีวิตได้
ผู้ป่วยนิ่วชนิดนี้จะมีอาการเมื่อก้อนนิ่วทำให้ผนังของกระเพาะปัสสาวะระคายเคืองหรือปิดกั้นการไหลของปัสสาวะ ซึ่งทำให้มีอาการต่างๆ ดังนี้
เช็คอาการ นิ่วในกระเพาะปัสสาวะ
- ปวดท้องน้อยเรื่อรัง อาจร่วมกับปวดหลังเรื้อรัง
- ปวดหรือรู้สึกไม่สบายที่อวัยวะเพศหรืออัณฑะ
- การปัสสาวะผิดปกติ เจ็บแสบ ขัดเบา ขณะปัสสาวะ ปัสสาวะไม่ออก ปัสสาวะลำบาก หรือ ปัสสาวะติดขัด ปวดเบ่งคล้ายว่ายังปัสสาวะไม่สุด ปวดแสบปวดร้อน ปัสสาวะสะดุดและออกเป็นหยด
- ปัสสาวะบ่อย กลั้นปัสสาวะไม่อยู่ คล้ายๆหูรูดเสีย
- ปัสสาวะขุ่น มีสีเข้มผิดปกติ หรือ ปัสสาวะเป็นเลือด หรือ มีสีน้ำตาล หรือ อาจปัสสาวะเป็นก้อนนิ่วหรือเม็ดกรวดทรายเล็ก ๆ หรือ ปัสสาวะขุ่นขาวเหมือนมีผงแป้งปนอยู่
- มีไข้ ปวดเนื้อตัว และอาจมีอาการปวดข้อร่วมด้วย
ภาวะแทรกซ้อนของนิ่วในกระเพาะปัสสาวะ
- มักทำให้มีอาการอักเสบของกระเพาะปัสสาวะจากการติดเชื้อ ซึ่งถ้าปล่อยทิ้งไว้เรื้อรังหรือก้อนนิ่วอยู่ในตำแหน่งอุดกั้นปากท่อไตที่เปิดเข้ากระเพาะปัสสาวะ อาจทำให้กรวยไตอักเสบและไตวาย
- การอักเสบติดเชื้อของกระเพาะปัสสาวะจากนิ่วอาจลุกลามจนเกิดการอักเสบติดเชื้อของไต และ/หรือการติดเชื้อในกระแสเลือดหรือภาวะพิษเหตุติดเชื้อได้
สาเหตุของนิ่วในกระเพาะปัสสาวะ นิ่วชนิดนี้มักเกิดขึ้นเมื่อคนเรามีปัสสาวะตกค้างอยู่ในกระเพาะปัสสาวะแล้วมีการตกตะกอน หรืออาจเกิดจากการติดเชื้อบางประเภท ภาวะบางอย่างที่ส่งผลให้การทำงานของกระเพาะปัสสาวะ รวมถึงการมีสิ่งแปลกปลอมอยู่ในกระเพาะปัสสาวะ ซึ่งจากการศึกษาของศูนย์วิจัย คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี พบว่านิ่วในกระเพาะปัสสาวะพบได้มากในภาคอีสานและภาคเหนือของประเทศไทย มีสาเหตุมาจากการขาดสารฟอสเฟต ซึ่งมีมากในอาหารประเภทโปรตีน ร่วมกับการรับประทานผักที่มีสารออกซาเลต (Oxalate) สูง และดื่มน้ำน้อย จึงทำให้มีการสะสมผลึกของสารแคลเซียมออกซาเลตในกระเพาะปัสสาวะ จนกลายเป็นก้อนนิ่วในที่สุด นอกจากสาเหตุดังที่กล่าวมาแล้ว ในคนทั่วไปยังอาจพบนิ่วในกระเพาะปัสสาวะร่วมกับภาวะอุดกั้นของท่อปัสสาวะ ต่อมลูกหมากโต กระเพาะปัสสาวะหย่อน (Cystocele) กระเพาะปัสสาวะไม่ทำงานเนื่องจากเป็นอัมพาต (Neurogenic bladder) เป็นต้น ก้อนนิ่วในกระเพาะปัสสาวะอาจมีขนาดแตกต่างกันไปตั้งแต่เท่าเม็ดทรายไปจนถึงขนาดใหญ่มากกว่า 5 เซนติเมตร อาจมีก้อนเดียวหรือมีหลายก้อนก็ได้ และก้อนนิ่วบางคนอาจมีลักษณะค่อนข้างนุ่ม หรือแข็งพอประมาณ ไปจนถึงแข็งมาก ขึ้นอยู่กับชนิดหรือสารที่เป็นส่วนประกอบของนิ่วสำหรับกลไกการเกิดนิ่วในกระเพาะปัสสาวะนั้นมาจากมีการตกตะกอนของสารที่ประกอบขึ้น เมื่อมีการเกิดเรื้อรัง สารเหล่านี้จะรวมตัวกันเป็นก้อน (ซึ่งเรียกว่า “ก้อนนิ่ว”) โดยสาเหตุที่ทำให้สารเหล่านี้ตกตะกอนได้ง่ายมักเกิดจากหลายสาเหตุร่วมกัน หรือจากสาเหตุใดสาเหตุหนึ่ง เช่น
- การดื่มน้ำในปริมานที่น้อยกว่าปกติ ทำให้ปัสสาวะมีความเข้มข้นของเกลือแร่มากเกินไป, จากการรับประทานอาหารบางประเภทที่มีสารดังกล่าวสูง เช่น แคลเซียมจากการเสริมอาหารด้วยเกลือแร่แคลเซียมในปริมาณสูง, เครื่องในสัตว์ เป็นต้น
- มีการค้างของปัสสาวะเรื้อรังในกระเพาะปัสสาวะ มักพบบ่อยคือ มีการอุดกั้นบริเวณทางเดินปัสสาวะ เช่น จากท่อปัสสาวะตีบแคบซึ่งอาจเป็นมาแต่กำเนิด และเป็นสาเหตุหนึ่งของนิ่วในกระเพาะปัสสาวะในเด็ก หรือ จากโรคต่อมลูกหมากโตในผู้ชายตั้งแต่วัยกลางคนขึ้นไป หรือ เกิดจากโรคสมอง หรือ โรคทางเส้นประสาทที่ทำให้ปัสสาวะไม่คล่อง เช่น โรคอัมพฤกษ์อัมพาต โรคกะบังลมหย่อนในผู้หญิง หรือ จากการดื่มน้ำน้อยเกินไป (ส่วนสาเหตุจากการกลั้นปัสสาวะเป็นเวลานานประมาณ 6-8 ชั่วโมง จะไม่ทำให้เกิดนิ่วในกระเพาะปัสสาวะ แต่การคั่งของน้ำปัสสาวะในกระเพาะปัสสาวะที่ถ่ายไม่หมดนั้น อาจจะต้องใช้เวลานานเป็นเดือนถึงจะมีนิ่วเกิดขึ้นได้
-
เกิดจากกระเพาะปัสสาวะมีการระคายเคืองเรื้อรังเช่น กระเพาะปัสสาวะอักเสบเรื้อรัง การใส่สายสวนปัสสาวะเรื้อรัง เช่น ในผู้ป่วยอัมพาต หรือ ผู้ป่วยที่มีโรคถุงในกระเพาะปัสสาวะ
- มีนิ่วหลุดลงมาจากไตแล้วมาสะสมจนโตขึ้นในกระเพาะปัสสาวะซึ่งในกรณีจะตรวจพบนิ่วในไตร่วมด้วยเสมอ
การรักษานิ่วในกระเพาะปัสสาวะ
- ควรดื่มน้ำให้มาก ๆ เมื่อก้อนนิ่วมีขนาดเล็กถูกขับนิ่วออกมาเองตามธรรมชาติ ถ้าไม่หมดต้องใช้วิธีทางการแพทย์เพิ่มเติม
- การสลายก้อนนิ่วด้วยคลื่นเสียง
- การรักษาโดยใช้กล้องส่อง หรือ เครื่องมือเข้าไปกรอนิ่ว ขบ หรือ คีบออกมาเหมาะสำหรับนิ่วในกระเพาะปัสสาวะที่มีขนาดเล็ก ที่สามารถสอดกล้องเข้าไปได้ที่ท่อปัสสาวะได้เลย และไม่ทำให้มีแผลผ่าตัด
- การรักษาด้วยการผ่าตัดกระเพาะปัสสาวะเพื่อเอานิ่วออกมาเหมาะสำหรับก้อนนิ่วที่มีขนาดใหญ่
- การรักษาไปตามสาเหตุที่ตรวจพบเช่น ให้ดื่มน้ำมาก ๆ ถ้าโรคเกิดจากการดื่มน้ำน้อย หรือผ่าตัดต่อมลูกหมากเมื่อมีต่อมลูกหมากโตจนอุดกั้นทางเดินปัสสาวะ หรือแนะนำให้รับประทานอาหารที่มีสารประกอบของนิ่วต่ำ
- การรักษาแบบประคับประคองไปตามอาการ เช่น ให้ยาแก้ปวดเมื่อมีอาการปวด หรือให้ยาปฏิชีวนะเมื่อมีกระเพาะปัสสาวะอักเสบติดเชื้อแบคทีเรียร่วมด้วย
ก้อนนิ่วที่เกิดขึ้นในไตที่มีขนาดเล็กมากอาจจะสามารถหลุดออกไปได้พร้อมกับการขับปัสสาวะ โดยไม่ทำให้เกิดอาการเจ็บปวดใด ๆ เว้นแต่เมื่อก้อนนิ่วเริ่มเคลื่อนตัวรอบ ๆ ไตหรือไปยังท่อไตแล้ว ซึ่งเป็นท่อที่เชื่อมต่อระหว่างไตและกระเพาะปัสสาวะ เรียกว่า “นิ่วในท่อไต“จะทำให้ผู้ป่วยที่มีนิ่วในไตอาจมีอาการ เช่น ปวดหลังหรือช่องท้องด้านล่างข้างใดข้างหนึ่ง ปวดที่ขาหนีบ ปวดบีบเป็นระยะ ๆ อาจจะปัสสาวะเป็นเลือด หรือ อาจมีสีแดง ชมพู และน้ำตาลได้ อาการเจ็บปวดขณะปัสสาวะ มีอาการปวดปัสสาวะบ่อย หรือปัสสาวะออกมาได้น้อย นอกจากนี้ อาจมีอาการของกรวยไตอักเสบร่วมด้วย เช่น ปัสสาวะที่มีลักษณะขุ่นหรือมีกลิ่นแรง หนาวสั่น เป็นไข้ คลื่นไส้ อาเจียน เป็นต้น
เช็คอาการ นิ่วในไต
- มีอาการปวดเอวปวดหลังหรือช่องท้องด้านล่างเรื้อรังข้างใดข้างหนึ่ง (ด้านที่มีนิ่ว)
- อาการคลื่นไส้ อาเจียน
- ปวดที่ขาหนีบ
- ปัสสาวะเป็นเลือด หรือ อาจมีสีแดง ชมพู และน้ำตาลได้
- อาการปวดปัสสาวะบ่อย หรือปัสสาวะออกมาได้น้อย
- หนาวสั่น เป็นไข้
- ปัสสาวะที่มีลักษณะขุ่นหรือมีกลิ่นแรง (ในกรณที่มีอาการกรวยไตอักเสบร่วมด้วย)
ภาวะแทรกซ้อนของนิ่วในไต
- อาจทำให้ไตอักเสบ มีการติดเชื้อแบคทีเรียเรื้อรัง ซึ่งอาจทำให้มีอาการรุนแรงเป็นการติดเชื้อในกระแสเลือดจนเป็นเหตุให้เสียชีวิตได้
- ถ้าปล่อยไว้นาน ๆ และมีการติดเชื้อเรื้อรังบ่อย ๆ จะทำให้เนื้อไตเสีย อาจทำให้เกิดการติดเชื้อกลายเป็นกรวยไตอักเสบ จนในที่สุดเป็นไตวายเรื้อรัง และเป็นเหตุให้เสียชีวิตได้
สาเหตุของนิ่วในไต
พบมากในผู้ชายมากกว่าผู้หญิง และ พบมากในช่วงอายุ 30-40 ปี ส่วนใหญ่เป็นผู้ป่วยจากทางภาคเหนือ และภาคอีสาน ส่วนมากมักเป็นที่ไตเพียงข้างเดียว ที่เป็นทั้งสองข้างอาจพบได้บ้างบางรายอาจเป็นซ้ำ ๆ หลายครั้งก็ได้ นิ่วในไตอาจเกิดจากการมีปริมาณเกลือ แร่ธาตุ และสารต่าง ๆ เช่น แคลเซียม กรดออกซาลิก และกรดยูริกในปัสสาวะมากเกินกว่าของเหลวในปัสสาวะจะละลายหรือทำให้สารเหล่านั้นเข้มข้นน้อยลงได้เป็นต้น จึงเกิดการเกาะตัวเป็นก้อนนิ่วในที่สุด อาจเป็นเพราะจากการมีพฤติกรรมการกินอาหารที่มีแคลเซียมสูง เช่นการดื่มนมในปริมาณมาก ๆ บริโภคเกลือ น้ำตาล และ อาหารที่มีโปรตีนสูงในปริมาณที่มากเกินไป รวมถึงการดื่มน้ำไม่มากพอในแต่ละวัน หรืออาจมีปัญหาสุขภาพบางอย่าง หรือภาวะผิดปกติอื่น ๆ เช่น ต่อมพาราไทรอยด์ทำงานมากเกินไปซึ่งทำให้แคลเซียมในเลือดสูง การติดเชื้อในระบบทางเดินปัสสาวะ โรคเมตาบอลิก และการใช้ยารักษาโรคหรืออาหารเสริมบางชนิด นอกจากนี้ ยังพบเป็นโรคแทรกซ้อนของผู้ป่วยโรคเกาต์ ซึ่งมีการขับกรดยูริกออกทางปัสสาวะ กลไกของการเกิดนิ่วนั้น ในปัจจุบันยังไม่ทราบแน่ชัด เชื่อว่าคงมีปัจจัยร่วมกันหลายอย่างด้วยกัน เช่น การอยู่ในเขตร้อนที่ร่างกายสูญเสียเหงื่อง่าย แล้วดื่มน้ำน้อย ทำให้ปัสสาวะมีความเข้มข้นของแคลเซียม, การติดเชื้อในทางเดินปัสสาวะ, ความผิดปกติทางโครงสร้างของไต เป็นต้น คนที่ชอบกินอาหารที่มีสารซาเลตสูง หรือกินวิตามินซีขนาดสูงๆ ซึ่งจะกลายเป็นสารออกซาเลตสูง ก็มีโอกาสเป็นนิ่วมากกว่าคนปกติ
การรักษานิ่วในไต
ถ้ามีขนาดเล็กที่มีเส้นผ่าศูนย์กลางไม่เกิน 5 มิลลิเมตร ควรดื่มน้ำมาก ๆ เพื่อช่วยขับก้อนนิ่วออกมาพร้อมปัสสาวะ
แพทย์อาจสั่งจ่ายยากลุ่มแอลฟา-บล็อกเกอร์เพื่อช่วยขับก้อนนิ่วออกมาทางปัสสาวะ และอาจให้ยาเพื่อบรรเทาอาการปวด เช่น ไอบูโพรเฟน พาราเซตามอล และนาพรอกเซน ตามสาเหตุของสารเคมีต่างๆที่ทำให้เกิดนิ่ว เช่น ยาที่ใช้รักษานิ่วที่เกิดจากออกซาเลตได้แก่ คอเลสไทรามีน (Cholestyramine) ซึ่งเป็นยาลดไขมันในเลือดแต่นำมาใช้รักษานิ่วได้ และการรับประทานอาหารที่มีวิตามินบี 6
พิจารณาให้ผ่าตัดเอาก้อนนิ่วออก
โรคนิ่วในถุงน้ำดี
นิ่วในถุงน้ำดี (Gallstones) มักพบในผู้ที่มีอายุมากกว่า 40 ปีขึ้นไป ซึ่งจะพบในผู้หญิงมากกว่าผู้ชาย ผู้ที่มีระดับคอเลสเตอรอลสูง รวมถึงผู้หญิงที่มีบุตรแล้ว และผู้ป่วยที่เป็นเบาหวาน ธาลัสซีเมีย โลหิตจางจากเม็ดเลือดแดงแตกอาจจะมีโอกาสเป็นนิ่วในถุงน้ำดีมากกว่าคนปกติทั่วไป
ก้อนนิ่วขนาดเล็กที่เกิดขึ้นในถุงน้ำดี เกิดจากการตกผลึกของหินปูน(แคลเซียม) คอเลสเตอรอลและบิลิรูบิน(สารเคมีชนิดหนึ่งที่ให้สีเหลืองออกน้ำตาล เกิดจากการแตกตัวหรือการตายของเซลล์เม็ดเลือดแดงในหลอดเลือด) ที่มีอยู่ในน้ำดี ตกตะกอนผลึกเป็นก้อน ส่วนสาเหตุที่ทำให้เกิดการตกผลึกของสารเหล่านี้เชื่อว่าเกิดจากการติดเชื้อของทางเดินน้ำดี และความไม่สมดุลของส่วนประกอบคอเลสเตอรอลและบิลิรูบินในน้ำดี การตกผลึกของสารเหล่านี้อาจทำให้เกิดเป็นก้อนนิ่วเพียงก้อนเดียว หรือก้อนเล็ก ๆ เท่าเม็ดทรายหรือใหญ่เท่าลูกกอล์ฟก็ได้ อย่างไรก็ตาม หากก้อนนิ่วติดค้างอยู่ที่ปากท่อของถุงน้ำดี อาจทำให้เกิดอาการปวดท้องเฉียบพลันนานประมาณ 1-5 ชั่วโมง หรือที่เรียกว่าปวดเสียดท้อง ซึ่งบางรายแพทย์อาจแนะนำให้รักษาด้วยการผ่าตัด
เช็คอาการของโรคนิ่วในถุงน้ำดี
อาหารไม่ย่อยท้องอืดท้องเฟ้อ แสบร้อนที่ยอดอก มีลมในกระเพาะอาหาร โดยเฉพาะเสียดแน่นท้องบริเวณลิ้นปี่หลังรับประทานอาหารมัน
ปวดหลังบริเวณระหว่างไหล่และสะบัก
อาการปวดบริเวณไหล่ขวา
มีไข้และหนาวสั่น
คลื่นไส้อาเจียน (ถุงน้ำดีติดเชื้อ)
ดีซ่าน ตัวเหลืองหรือตาขาวเปลี่ยนเป็นสีเหลือง
ปวดท้องอย่างรุนแรงจนไม่สามารถนั่งได้หรือไม่สามารถนั่งในท่าที่สบายได้
ปัสสาวะมีสีเข้ม
อุจจาระมีสีขาว
ภาวะแทรกซ้อนของนิ่วในถุงน้ำดี
ก้อนนิ่วเข้าไปปิดกั้นท่อน้ำดี ทางที่น้ำไหลผ่านจากถุงน้ำดีหรือตับสู่ลำไส้เล็ก มีผลให้เป็นดีซ่านและเกิดการติดเชื้อในท่อน้ำดี คือ ท่อน้ำดีอักเสบ
ก้อนนิ่วที่ไปปิดกั้นท่อของตับอ่อน มีผลทำให้มีอาการปวดท้องอย่างรุนแรงตลอดเวลา และจำเป็นต้องรักษาอย่างทันท่วงที มีผลมาจากตับอ่อนอักเสบ
ก้อนนิ่วที่ติดอยู่ในท่อถุงน้ำดี อาจทำให้เกิดอาการปวดรุนแรง เป็นไข้และทำให้ตัวเหลือง ตาเหลือง เป็นผลมาจากถุงน้ำดีอักเสบ
สำหรับผู้ที่เคยเป็นนิ่วในท่อน้ำดีจะเสี่ยงเป็นมะเร็งท่อน้ำดีเพิ่มขึ้น แต่พบได้น้อยมาก คือ มะเร็งท่อน้ำดี
ในกรณีที่มีถุงน้ำดีอักเสบ ท่อน้ำดีอักเสบ หรือ ตับอ่อนอักเสบ อาจทำให้ผู้ป่วยติดเชื้อในกระแสเลือดและเสียชีวิตได้ติดเชื้อในกระแสเลือด
สาเหตุและกลุ่มเสี่ยงของนิ่วในถุงน้ำดี
ภาวะอ้วน น้ำหนักมาก และ คอเลสเตอรอลสูงเพราะจะเกิดนิ่วที่มีคอเลสเตอรอล เนื่องจากการบีบตัวของถุงน้ำดีลดลง
ตั้งครรภ์หลายครั้ง ทำให้ระดับคอเลสเตอรอลในน้ำดีสูง
กินยาคุมกำเนิด หรือ กินฮอร์โมนจากภาวะหมดประจำเดือน
ทานยาลดไขมันในเลือดบางชนิดทำให้คอเลสเตอรอลในน้ำดีสูง
โรคเบาหวานเพราะระดับไขมันชนิดไตรกลีเซอไรด์ในเลือดสูงมาก ๆ
ผู้ที่อดอาหาร (ถือศีลอด) หรือลดน้ำหนักตัวอย่างรวดเร็ว
โรคเลือด โลหิตจาง ธาลัสซีเมีย
พันธุกรรม มีประวัติคนในครอบครัว
เพศหญิง 40 ปีขึ้นไป
ผู้สูงอายุ 60 ปีขึ้นไป